วัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซมคอนกรีต...เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันมีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการซ่อมแซมคอนกรีตอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง นอกจากจะต้องดูมาตรฐานผลิตภัณฑ์แล้วต้องพิจารณาการนำมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะความเสียหายและวิธีการซ่อมแซมด้วย

    

          มาตรฐานผลิตเป็นสิ่งแรกที่ต้องมี เพราะหมายถึงมีมาตรฐานในการผลิต มีมาตรฐานในการเลือกใช้วัสดุนำมาผลิต มีมาตรฐานการทดสอบและรับรองคุณสมบัติของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น TIS ย่อมาจาก Thai Industrial Standards หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และ ISO ย่อมาจาก  International Standards Organization คือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน

  

          การนำมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะความเสียหายและวิธีการซ่อมแซม เป็นเรื่องหลักที่ต้องคำนึงถึง หากไม่เหมาะสมก็จะส่งผลถึงคุณภาพการซ่อมแซมด้วย เช่น หากต้องการซ่อมแซมคอนกรีตที่มีรอยแตกร้าวขนาดเล็กแต่เลือกใช้วัสดุที่เป็นลักษณะน้ำปูนเหลว น้ำปูนอาจไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปตามรอยแตกร้าวขนาดเล็กให้เต็มพื้นที่ได้ จึงต้องเลือกใช้วัสดุประเภท อีพอกซีเรซิน(Epoxy Resin) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำ ทำให้สามารถแทรกซึมเข้าไปอุดรอยแตกร้าวและมีแรงยึดเกาะที่ดีกว่าด้วย และอีกหนึ่งตัวอย่างคือ หากต้องการซ่อมแซมคอนกรีตที่มีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ที่สามารถเทเข้าที่ได้โดยง่ายด้วยวัสดุซ่อมแซมเดียวกับคอนกรีต แต่จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือจะต้องไม่เปลี่ยนรูปร่างและขนาดหลังจากการเทในระหว่างการก่อตัวและการบ่ม จึงเป็นการง่ายและประหยัดกว่าที่ใช้ในการฉาบ เป็นต้น